Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกพูดช้าทำอย่างไรดี

Posted By Plook TCAS | 22 ส.ค. 66
725 Views

  Favorite

            เมื่อลูกน้อยวัยอนุบาลพูดช้า พ่อแม่เริ่มกังวลใจกับพัฒนาการด้านการพูดและด้านภาษาของลูกซะแล้วสิ ลูกป่วยด้วยอาการของโรคอะไรหรือเปล่า แล้วเราจะช่วยลูกได้อย่างไรบ้างให้ลูกพูดจาคล่องแคล่ว ฉาดฉานเหมือนเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน จึงจำเป็นต้องคิดหาวิธีการเพื่อช่วยลูกสร้างทักษะในการสื่อสาร โดยเริ่มต้นจากที่บ้านคือ

 

ศึกษาการพูดช้าของลูกว่าเกิดจากเหตุใด

            พ่อแม่ผู้ปกครองคือผู้ที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เราสามารถสังเกตพฤติกรรมและลักษณะนิสัยส่วนตัวของลูกเป็นอย่างไร เช่น เก็บตัว ไม่ช่างพูด ขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคมพบปะผู้คน หรือลูกได้ยินคำพูดที่เราพูดไม่ชัดเจน หรือลูกป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น หรือความบกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ทำให้มีพัฒนาการล่าช้าในด้านการรับรู้หรือการเคลื่อนไหวอื่น ๆ หากสงสัยว่าลูกอาจป่วย ให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งอาจมีการทดสอบการได้ยิน หรือทดสอบสมรรถภาพทางสติปัญญา หากพิจารณาแล้วว่าเป็นเพราะตัวลูกเอง ไม่ใช่การเจ็บป่วย เราอาจถามคุณครูได้อีกทางหนึ่งถึงพฤติกรรมของลูกขณะอยู่ที่โรงเรียนและอยู่กับเพื่อน ๆ เช่น ลูกอาจเรียนตามเพื่อนไม่ทัน เข้ากับเพื่อน ๆ ไม่ได้ หรือมีปัญหาการอ่านการเขียน มีเด็กเล็กหลายคนที่ตอนเป็นเด็กน้อยพูดช้า แต่พอโตขึ้นพูดเป็นต่อยหอย

 

ช่วยลูกสร้างทักษะในการสื่อสารด้วยคำพูดและการแสดงออก   

            กิจวัตรประจำวันที่เราทำอยู่เป็นตัวช่วยได้อย่างดี เป็นการกระตุ้นให้ลูกพูดและแสดงออก ลูกและเรามีเวลาพูดคุยกันมากขึ้นเป็นพิเศษ เช่น เราทำกับข้าว ให้ชวนลูกมีส่วนร่วมซึ่งเด็กเล็ก ๆ ทุกคนชอบอยู่แล้ว บอกชื่ออาหารพืชผักวัตถุดิบที่เราใช้ปรุงอาหาร ถามลูกชอบกินไหม บอกชื่ออุปกรณ์ในการทำครัว ถามลูกว่าใช้ทำอะไรได้บ้าง เรารดน้ำต้นไม้ มอบฝักบัวรดน้ำเล็ก ๆ ให้ลูก ลูกจะชอบมาก บอกชื่อต้นไม้ ชวนลูกคุยเกี่ยวกับใบ ต้น ดอก ให้ความรู้แบบไม่ยัดเยียด ลูกจะเพลิดเพลินและสนุกกับการเรียนรู้ธรรมชาติ การรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว ชี้ชวนให้ลูกชิมอาหารอร่อย ๆ และถามลูกถึงรสชาติของอาหาร  

            ยามว่างให้ลูกดูหนังการ์ตูนสนุก ๆ หรือสอนลูกให้เปิดแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือเองตามเวลาที่เรากำหนด ให้ลูกดูคลิปที่เราจัดและตั้งค่าไว้ให้ โดยเราอยู่ใกล้ ๆ ลูกและสอนให้ลูกพูดตามการ์ตูนตัวที่ลูกชอบ เมื่อพาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน ระหว่างทางนั่งรถหรือเดินไป ชี้ชวนให้ลูกดูเรื่องราวของผู้คนและชวนคุยเพื่อฝึกการโต้ตอบทางภาษา อ่านหนังสือนิทานสนุก ๆให้ลูกฟัง และหัดให้ลูกอ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กแบบง่าย ๆ หรือหนังสือภาพ แล้วให้ลูกเล่าเรื่องราวให้เราฟังบ้าง ชวนลูกคุยถึงรูปภาพในหนังสือและให้ลูกตอบคำถามง่าย ๆ เมื่อเราถามไปแล้ว ให้เวลาลูกคิดและประมวลคำตอบในสมองน้อย ๆ ด้วย พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่โรงเรียน เพื่อน ๆ และคุณครู ฝึกลูกพูดเกี่ยวกับการทักทายและการแสดงความเคารพ เพื่อดูว่าลูกมีทักษะในการฟัง จับใจความ และถ่ายทอดได้แค่ไหน การอ่านทำให้ลูกรู้จักใช้สมองและฝึกทักษะการคิดเพื่อถ่ายทอด และปล่อยให้ช่วงเวลาการคิดของลูกเป็นไปตามธรรมชาติ

 

พัฒนาการพูดให้ลูกด้วยการเล่นของเล่น เกม ร้องเพลง และเต้น

            การเล่นของเล่นและเกมประเทืองสติปัญญา เช่น เกมจับคู่ภาพหรือเกมพัฒนาสมองแบบต่าง ๆ ซึ่งเราซื้อหรือทำเองได้ง่าย ๆ ลองค้นหาดูในอินเทอร์เน็ต แล้วชวนลูกทำด้วย เมื่อลูกรู้ว่านวัตกรรมชิ้นนี้คุณพ่อคุณแม่ทำเพื่อลูก ลูกจะให้ความสนใจและมีความสุข ระหว่างการประดิษฐ์ ชวนลูกคุย ถาม โต้ตอบระหว่างกัน การร้องเพลงและเต้นเป็นสิ่งโปรดปรานสำหรับเด็กน้อยทุกคน เด็กอนุบาลร่วมสมัยร้องเพลงและเต้นเพลงฮิตแสนโปรด เช่น ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย ได้กันทุกคน ทั้งร้องทั้งเต้น ลูกได้ร้องตามพูดตาม ได้พัฒนาการพูด การใช้ภาษา และการออกกำลังกายในคราวเดียวกัน และเรายังร้องเพลงที่คุ้นเคยกับลูกได้อีกด้วย เป็นการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะเพลิดเพลินในสิ่งเดียวกัน

            พ่อแม่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในชีวิตของลูกน้อย ความรักและความเอาใจใส่ในรายละเอียดเกี่ยวกับลูก จะช่วยให้เราผ่านพ้นข้อกังวลใจเกี่ยวกับการพูดช้าของลูกได้โดยไม่ยาก เราเองต้องเป็นแบบอย่างในการพูดที่ดี พูดช้า ๆ ชัด ๆ ให้ลูกเข้าใจ บางครั้งต้องพูดคำซ้ำ ๆ พูดอย่างเป็นธรรมชาติและผ่อนคลาย ยิ้มและสนุกกับการพูดคุยกับลูก เพื่อลดความรู้สึกกดดันในการพูดของลูก และฟังลูกพูดเพื่อให้ความสนใจกับสิ่งที่ลูกพูด การสบตากับลูกในขณะลูกพูด ทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในการพูด และเปิดการพูดคุยโต้ตอบได้ดีขึ้น อย่าวิจารณ์คำพูดของลูกถ้าลูกยังพูดช้าและไม่ชัดเจน ให้โอกาสลูกพัฒนาการพูดและการใช้ภาษาตามจังหวะของตนเองที่เราสอนและเสริมสร้าง เราต้องใช้เวลาและความอดทน รวมทั้งฝึกตัวเองไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกเป็นธรรมชาติมากขึ้นในการพูดคุยกับลูกที่พูดช้า และอย่าลืมสร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกน้อยด้วยการกอดการหอมแก้มและคำชมเชยเมื่อลูกทำได้ดี ทั้งหมดนี้เป็นการบำบัดการพูดช้าของลูกได้ชะงัดนัก

                                                                                                                       

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง 11 Ways to Increase Your Child’s Speech Fluency https://www.nspt4kids.com/parenting/11-ways-to-increase-your-childs-speech-fluency/            

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow